เด็กฝึกงาน.com

ความไม่สมบูรณ์ที่ถูกออกแบบมาให้ลงตัว “Lo-Fi” ดนตรีผ่อนคลาย ในยุค New Normal

  • ไลฟ์สไตล์
  • 29/3/21
  • 1,896
ความไม่สมบูรณ์ที่ถูกออกแบบมาให้ลงตัว  “Lo-Fi” ดนตรีผ่อนคลาย ในยุค New Normal

ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปีกับการใช้ชีวิตในวิถีใหม่ (New Normal) หลังวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปี 2562 การกักตัวอยู่ภายในที่พักอาศัยกว่า 4-5 เดือนนั้นอาจดูเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ แต่กลับพบว่าในช่วงนั้นหลาย ๆ คนได้ค้นพบกับกิจกรรมหรืองานอดิเรกใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน (หรือน้อยครั้งที่จะได้ทำ) อาทิ การเรียนรู้วิธีทำขนมหวานและสามารถนำมาประยุกต์เพื่อหารายได้เสริม หรือการทำอาหารร่วมกันภายในครอบครัว 

ในขณะนั้นได้มีปรากฏการณ์หนึ่งที่เรียกได้ว่าได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายบนโลกออนไลน์ กับปรากฏการณ์ทางดนตรีที่ให้ความรู้สึกที่ให้ความรู้สึกแปลกใหม่ กับเสียงเบสที่ดำดิ่ง จังหวะของทำนองที่ช้า ๆ  บ้างก็บอกว่าโคตรจะ Cool  บ้างก็บอกว่ามันช่วยให้ผ่อนคลาย นั่นก็คือดนตรีแนว “Lo-Fi” นั่นเอง 

วันนี้พวกเรา เด็กฝึกงาน.com จะพาทุกคนไปรู้จักกับสุนทรีของดนตรีแนว “Lo-Fi” ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในแนวดนตรีที่ถูกจับตามอง และถูกหยิบยกมาใช้ประโยชน์อย่างมากมาย

Lo-Fi คืออะไร?

คำว่า “Lo-Fi” นั้นย่อมาจาก “Low Fidelity” หมายถึง กระบวนการผลิตเพลงด้วยการบันทึกเสียงที่ไม่ได้พิถีพิถันหรือมีคุณภาพมาก ซึ่งเสียงดนตรีนั้นอาจไม่ได้มีความคมชัด มีเสียงรบกวน (Noise) ของเครื่องดนตรีบ้าง แต่หารู้ไม่ว่าความไม่สมบูรณ์แบบของเสียงดนตรีทำให้เพลงประเภท Lo-Fi หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า DIY Music นั้นมีเสน่ห์ ที่ทำให้ผู้ฟังเหมือนต้องมนต์สะกดเข้าไปในวังวนที่ชวนหลงใหล ชวนเคลิบเคลิ้มไปกับท่วงทำนองและจังหวะของเพลง.

ที่มาที่ไปของดนตรีประเภท “Lo-Fi” นั้นเริ่มต้นขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1950 - 1960 ยุคที่เครื่องดนตรีหรืออุปกรณ์บันทึกเสียงในขณะนั้นไม่ได้มีคุณภาพสูงเฉกเช่นปัจจุบัน  อีกทั้งศิลปินส่วนใหญ่ในยุคนั้นมักหยิบอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย ไม่ต้องมีกระบวนการที่ยุ่งยากในการผลิตผลงานเพลง มาใช้ในการบันทึกซิงเกิล หรือ อัลบั้มเล็ก ๆ ที่มีแค่ 4-5 เพลง อาทิ ผลงานของพอล แมคคาร์ทนี (Paul McCartney) ในอัลบั้ม McCartney,1970 เป็นต้น

( Oo You by Paul McCartney)

ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1990 - 2000 ในยุคที่เพลงฮิปฮอป (Hip-Hop) เฟื่องฟู ด้วยรูปแบบการร้องด้วยคำพูดที่รวดเร็ว กระชับ ดนตรีที่มีจังหวะสนุก เสียงเบสที่ต่ำและกว้าง ชวนขยับแข้งขยับขาโยกย้ายส่ายสะโพกไปตามจังหวะของเพลง

 (MC-Hammer - U Can’t Touch This )

เรียกได้ว่าในช่วง 1990 - 2000 นั้นเครื่องดนตรีไฟฟ้าได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการทำผลงานเพลง อาทิ กลองไฟฟ้า คีย์บอร์ดไฟฟ้า ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าศิลปินในการทดลองสร้างเสียงดนตรีที่แปลกใหม่ ซึ่งเรียกได้เป็นจุดที่วงการเพลงมีแนวเพลงที่หลากหลายมากขึ้น การผุดขึ้นมาของเพลงประเภทต่าง ๆ นั้น ทำให้เหล่านักฟังเพลงได้สัมผัสเสียงดนตรีที่แปลกใหม่ ไม่เว้นแม้แต่เพลงแบบ “Lo-Fi” ที่พัฒนาตัวเองไปตามการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยของโลก

ดนตรีสุด Cool แต่ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้

หากตาใช้เอาไว้มอง จมูกใช้ไว้ดม ลิ้นเอาไว้ลิ้มรสชาติ ส่วนผิวหนังใช้ไว้สัมผัส และสุดท้ายหูนั้นใช้รับฟังเสียงต่าง ๆ อวัยวะสัมผัสทั้ง 5 นั้นเปรียบเสมือนจุด Input ของร่างกายก่อนที่จะถูกส่งไปที่สมอง และได้ Output ออกมาเพื่อแสดงถึงการรับรู้

เสียงเพลงที่ได้รับฟัง รู้สึกคล้อยตามไปกับจังหวะของดนตรี หรือเนื้อหาเมื่อได้ฟัง นั่นแสดงถึงการรับรู้ถึงสุนทรียภาพของเสียงเพลงที่สามารถสื่อสารให้เรารู้สึก และสามารถแสดงถึงการรับรู้ออกมาได้

เพลงแบบ “Lo-Fi” นั้นไม่ได้มีเนื้อเพลงที่เป็นคำพูดมากมาย แต่กลับมีทำนองที่เป็นตัวบอกเล่าเรื่องราว และความรู้สึกได้ ซึ่งเสียงเพลงนั้นไม่ได้ช่วยทำรู้สึกบันเทิง หรือจรรโลงใจแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีงานวิจัยทางการแพทย์3ระบุว่าการฟังดนตรีบำบัดนั้นทำให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดลดลงมากกว่าการใช้ยาลดความเครียด อีกทั้งยังช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย โดยช่วยปรับให้อารมณ์สงบขึ้นทำให้นอนหลับง่ายขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นการฟังเพลงแบบ “Lo-Fi”  เพื่อคลายความเครียดไม่ได้มีประโยชน์กับแพทย์ในการรักษาคนไข้ แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนได้

โดย เบรนเดนท์ ลุสท์ จากโรงเรียนมัธยมไฮด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยด้วยการทดลองใช้ดนตรี “Lo-Fi” เป็นส่วนช่วยในการเรียนการสอน พบว่าสามารถช่วยให้นักเรียนมีสมาธิและจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ได้มากขึ้น รวมถึงยังสามารถช่วยคลายความกังวลหรือความเครียดได้ เนื่องจากเพลงประเภทนี้ นั้นไม่มีเนื้อร้องและจังหวะของดนตรีที่ค่อนข้างช้าจนถึงปานกลางประมาณ 70-80 ครั้ง/นาที รวมถึงเสียงรบกวน (Noise) ในเพลงนั้นยังช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายด้วยอย่างน่าอัศจรรย์ นั่นจึงทำให้เพลงแบบ “Lo-Fi” นั้นถูกหยิบยกขึ้นมาฟังบ่อย ๆ เพื่อช่วยบรรเทาความเครียด คลายความกังวล และมีสมาธิจดจ่อ ในขณะทำงาน หรือเรียนได้

และหากเพื่อน ๆ คนไหนกำลังมองหาเพลย์ลิสต์หรือเพลงแนว “Lo-Fi” ฟังอยู่ วันนี้ เด็กฝึกงาน.คอม ก็มีเพลย์ลิสต์มาฝากกันด้วยนะ เรียกได้ว่าเพลงแนว “Lo-Fi” นั้นเป็นคลื่นลูกใหม่ที่นอกจากสามารถนำไปฟังชิล ๆ ได้ หากใครที่กำลังเครียด ๆ หรือกำลังวิตกกังวลอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องเรียน เรื่องที่ฝึกงาน หรือเรื่องทำงาน แค่เอนกายกับเก้าอี้หรือที่นอนตัวโปรด จากนั้นใส่หูฟัง และเลือกฟังจากเพลย์ลิสต์ที่เราแนะนำได้เลย :)

Youtube: Lofi Girl

Spotify: Lo-Fi Beats, Lo-Fi-Relax and Sleep

Apple Music: Lofi Hip Hop Music - Beats to Relax/Study

 

เคล็ดลับ เด็กฝึกงาน เด็กรุ่นใหม่ ฟังเพลง lo-fi lifestyle ผ่อนคลาย ดนตรี new normal covid-19