เด็กฝึกงาน.com

ไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร ทำอะไรก็จอยไปหมดกับ “มนุษย์เป็ด” แห่งศตวรรษที่ 21

  • บทความนักศึกษา
  • 19/4/21
  • 16,328
ไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร ทำอะไรก็จอยไปหมดกับ “มนุษย์เป็ด” แห่งศตวรรษที่ 21

เพราะเราต่างอาศัยอยู่ในยุคที่อินเตอร์เน็ต รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น การเข้าถึงข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ จึงเป็นไปอย่างง่ายดาย และสะดวกรวดเร็ว เมื่อโลกและวิสัยทัศน์ของเรานั้นไร้ซึ่งพรมแดนแห่งการเรียนรู้เราจึงสามารถเข้าถึงสิ่งต่าง ๆมากมายได้อย่างไร้ขีดจำกัด และเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้โดยที่ไม่หยุดแต่เพียงภายในห้องเรียนสี่เหลี่ยม หรือกรอบสังคมรอบข้างเท่านั้น 

จอร์จ โลเวนสไตน์​ (George Loewenstein) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังแห่งสหรัฐอเมริกาได้กล่าวไว้ว่า “ความสงสัยใคร่รู้ในตัวของมนุษย์นั้นเป็นความดีเลิศและนั่นจะไม่มีวันสิ้นสุดจนจวบวาระสุดท้าย” และด้วยความใคร่รู้ของมนุษย์ ผนวกกับโลกอินเตอร์เน็ตไร้พรมแดนนั้นทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เกิดความชอบ ความสนใจ และความสามารถที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรามักจะพบเจอกับกลุ่มคนประเภทนี้ได้ในหลากหลายสาขาอาชีพ โดยมักเรียกกลุ่มคนพวกนี้ว่า “มนุษย์เป็ด” 

“มนุษย์เป็ด” เป็นคำพูดที่คนไทยใช้นิยามบุคคลที่มีความสามารถที่หลากหลาย ประเภทที่ว่าทำนู่นทำนี่ได้หมด แต่กลับไม่ได้เก่งแบบสุดโต่งเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งเปรียบเสมือน “เป็ด” ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายนก มีปีกแต่ก็บินได้ไม่สูง แถมยังมีตีนที่แบนทำให้สามารถว่ายน้ำ และหาอาหารในน้ำได้ แต่ก็ยังไม่สามารถดำน้ำได้ลึกเหมือนปลา ทำได้แค่ว่ายบนผิวน้ำเท่านั้น เรียกได้ว่า ‘ทำได้หลายอย่าง แต่ไปไม่สุดสักทาง’ undecided

ถึงแม้ความเป็น “มนุษย์เป็ด” อาจทำให้รู้สึกสับสนกับตัวเองว่า “ฉันชอบอะไรกันแน่” หรือ “ฉันทำได้นะ แต่ทำไมฉันดูไม่เก่งในทางไหนซักทางเลย” หากใครที่กำลังตั้งคำถามหรือกกำลังเผชิญกับความรู้สึกที่น่าอึดอัดนี้อยู่ ขอให้ลบล้างความรู้สึกที่ไม่ดีกับตัวเองหรือ mindset แบบนั้นไปซะ! เพราะไม่ใช่ว่าคุณไม่เก่ง หรือค้นหาตัวเองไม่เจอ แต่แท้จริงแล้วคุณคือ “Multipotential” หรือ “ผู้ที่มีศักยภาพหลากหลาย” ต่างหากล่ะ wink

" You might feel you don’t have a purpose.

You might feel something wrong with you. 

There’s nothing wrong with you. 

What you are is a “Multipotentialite "

Why Some of Us Don't Have One True Calling (Wapnick, 2015)

เอมิลี แวปนิก (Emilie Wapnick) นักพัฒนาสังคม และนักเขียนหนังสือ ได้ขึ้นพูดที่เวที TEDxBend ในหัวข้อ “Why Some of Us Don't Have One True Calling” ซึ่งเธอได้กล่าวว่า “ผู้ที่มีศักยภาพหลากหลาย (Multipotential) คือคนที่มีความสนใจและงานอดิเรกมากมาย มันไม่ยากเลย ที่จะเห็นความมีศักยภาพหลากหลายของคุณ เป็นข้อจำกัด หรือความเจ็บปวดภายในใจ ที่คุณจะต้องก้าวผ่านมันไปให้ได้”

อีกทั้งเธอยังได้กล่าวว่ากลุ่มคนประเภทนี้เป็นหนึ่งใน “Super Power” แห่งศตวรรษที่ 21 ที่ขับเคลื่อนให้หลาย ๆ สายอาชีพก้าวข้ามข้อจำกัดของคำว่า “งานเฉพาะทาง (Specification)” สู่การ “การทำงานร่วมกัน (Collaboration)”  ด้วยการนำหยิบยกสิ่งที่ตนเองชอบผนวกกับการนำศาสตร์และศิลป์มาประยุกต์ใช้การทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการใช้เทคนิคในการทำงานทั้ง 3 ประการ ดังนี้

  • Idea Synthesis (การสังเคราะห์ความคิด)
    คือ การนำหลาย ๆ ความคิดมาเชื่อมโยงปะติดปะต่อเพื่อสร้างสรรค์และนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างผลงานที่มีความแตกต่างและแปลกใหม่

  • Rapid Learning (การเรียนรู้อย่างรวดเร็ว)
    การเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องที่ศึกษาอย่างรวดเร็ว พร้อมที่จะก้าวกระโดดออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง เพื่อเปิดรับความคิดใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา

  • Adaptability (ความสามารถในการปรับตัว)
    การปรับตัวในการทำงานด้วยการหยิบไอเดียต่าง ๆ มาประยุกต์และนำมาใช้ได้จริง เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน อีกทั้งการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์หรือตามบริบทต่าง ๆ ของสังคมได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งการเป็น “มนุษย์เป็ด” พบว่าตนเองนั้นมีความชอบที่หลากหลาย สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของกระแสนิยมโลกได้ไว และสามารถทำอาชีพได้อย่างหลากหลาย อาทิ สายการตลาด สายบริหาร หรือแม้กระทั่งสายออนไลน์ คอนเทนต์ เป็นต้น 

เรียกได้ว่าไปได้หมดทุกทางจริง ๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องถามตัวเองด้วยว่า “คุณชอบในสิ่งนั้นไหม” หรือ “คุณรู้สึกว่ามันท้าทายความสามารถไหม” ขอแค่ลองถามตัวเองแค่ไหนว่าใจคุณรักหรือชอบไหม แล้ว Let’s Do It ออกไปลุยเลย เพื่อปลดล็อกและแสดงศักยภาพที่มีออกมา 

และเด็กฝึกงาน.คอม ไม่ได้มากับเรื่องราวที่เราอยากจะมาเล่าและแบ่งปันความรู้แต่เพียงเท่านั้น เรายังมีแบบทดสอบ “ความเป็นเป็ด” หรือ “Multipotentialite Test” ให้เพื่อน ๆ ได้ลองค้นหาตัวเองด้วย เพียงเข้าไปที่ www.puttylike.com 

 

แล้วตอบแบบสอบถามง่าย ๆ และตอบคำถามให้ตรงกับสิ่งที่เป็นตัวเองให้มากที่สุด จากนั้นก็รอผลลัพธ์ได้เลย ซึ่งหากเพื่อน ๆ ได้คำตอบแล้วมาร่วมแบ่งปันคำตอบด้วยกันว่าเรานั้นเป็น “มนุษย์เป็ด” หรือไม่ wink

 

References

Loewenstein, G. (1994). The Psychology of Curiosity: A review and interpretation, 16(1), 75-98
Wapnick, E. (2015, April, n.d.). Why Some of Us Don't Have One True Calling. TED. https://www.ted.com/talks/emilie_wapnick_why_some_of_us_don_t_have_one_true_calling?language=en

 

#นักศึกษา #เป็ด #multipotentialite #2021 #skills #ทักษะ