“โปรแกรมเมอร์” อาชีพ ‘Most Wanted’ ยุคดิจิทัล
โลกยุคดิจิทัลที่มีความล้ำสมัย และเทคโนโลยีมีวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของคนยุคนี้ เป็นไปด้วยความสะดวกสบาย รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดต่อสื่อสาร การเก็บข้อมูล ระบบการทำงานต่างๆ จะมี “โปรแกรมคอมพิวเตอร์” เข้ามามีบทบาทแทบทั้งหมด ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลัง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือรหัสซอฟต์แวร์ ก็คือ “โปรแกรมเมอร์ (Programmer)” นั่นเอง
“โปรแกรมเมอร์ (Programmer)” ต้องทำอะไรบ้าง?
โปรแกรมเมอร์ (Programmer) เป็นคนนำข้อมูลสำหรับใช้ออกแบบโครงสร้างระบบคอมพิวเตอร์ มาเขียนเป็นโปรแกรมประเภทต่างๆ ด้วยภาษาที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น
- JAVA
- JavaScript
- PHP
- SQL
- iOS/Swift
- C#
- Python
เมื่อเขียนโปรแกรมเสร็จก็จะทดสอบระบบ และส่งให้นักวิเคราะห์ระบบตรววจสอบหาจุดบกพร่อง และแก้ไขก่อนนำไปใช้จริง
นอกจากนี้ โปรแกรมเมอร์ ต้องรับข้อมูลที่เป็นความต้องการของผู้ใช้ระบบ หรือ User เพื่อเขียนโปรแกรมให้ตอบสนองกับการใช้งานของผู้ใช้ และรับผิดชอบเรื่องการพัฒนา ออกแบบ แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ Applications และCodings โปรแกรมต่างๆ รูปแบบการทำงานจะค่อนข้างละเอียด เพราะต้องวิเคราะห์ระบบ ต้องมีทักษะด้านการสื่อสาร และถ่ายทอดความรู้ได้ดี
“เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน”
ในช่วงปีที่ผ่านมา โปรแกรมเมอร์ยังคงเป็นที่ต้องการสูงของตลาดแรงงาน ธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับไอที และดิจิทัล และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับพบว่า โปรแกรมเมอร์ เป็นอาชีพที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล เรียกว่าเป็นวิกฤตการณ์ย่อมๆ เลยก็ว่าได้ เพราะคนจบสายนี้ส่วนใหญ่ มักจะผันตัวเองมาเป็น IT Support หรือ SAP Consult ฯลฯ กันหมด
โปรแกรมเมอร์จะมีฐานเงินเดือนที่แตกต่างกันในแต่ละสายงาน
- สายงานอุตสาหกรรม
- ประสบการณ์ 0-5 ปี
- เงินเดือนประมาณ 25,000 – 50,000 บาท
- สายงานไอทีและนวัตกรรมดิจิทัล
- ประสบการณ์ 0-5 ปี
- เงินเดือนประมาณ 18,000 – 45,000 บาท
หากน้องๆ ใฝ่ฝันอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ อย่างแรกเลยคือ ต้องรักการเขียนโปรแกรม มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ มีทักษะในการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ มีสมาธิและไม่เบื่อง่ายๆ ที่สำคัญเลยก็คือ พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทัน หรือใครกำลังฝึกงานสาย IT ก็ควรใช้ช่วงเวลาฝึกงานเก็บเกี่ยว และเรียนรู้การทำงานด้าน IT และโปรแกรมเมอร์ เพื่อจะได้เตรียมตัว และรับมือให้พร้อมก่อนจะไปทำงานจริง
ขอบคุณข้อมูลจาก buffohero.com และ admissionpremium.com