โปรดเรียกฉันว่า “นักพยากรณ์ทางการเงิน”
ACCOUNTANT
“นักพยากรณ์ทางการเงิน”
อันที่จริง หลายคนก็รู้อยู่แล้วว่า “งานบัญชี (Accounting)” ต้องทำงานเกี่ยวกับเอกสารแทบจะ 100% ไม่ว่าจะเป็นการบันทึก จัดเก็บ รวบรวม และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทางการเงินทั้งรายรับและรายจ่าย แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าเราคือ “นักพยากรณ์ทางการเงิน” ด้วยนะ
แล้ว “นักพยากรณ์ทางการเงิน” คือใครล่ะ?
เราคือคนที่ทำหน้าที่ พยากรณ์ยอดขาย พยากรณ์งบการเงิน พยากรณ์งบกำไรขาดทุน และพยากรณ์งบดุล โดยเราจะเป็นผู้ดูแล จัดการ และวางแผนกลยุทธ์ เอาไว้ที่ 3 รูปแบบ คือ
แบบที่ 1 : Long-Term
มองไกลไปให้ถึง 10 ปี เพื่อกำหนดทิศทางของการใช้เงินภายในบริษัท โดยพิจารณาปัจจัยทั้งภายในและภายนอกคู่กันไป
แบบที่ 2 : Intermediate-Term
วางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ด้วยโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสม ในระหว่างที่เราเดินตามทิศทางของ Long-Term ที่เราได้วางไว้
แบบที่ 3 : Short-Term
ทำเพียงแค่งบการเงินในแต่ละปี ตามทิศทางของ Long-Term เพื่อแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมการใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องทำให้บรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้
เสน่ห์ของ “นักพยากรณ์ทางการเงิน”
-เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง โดยเฉพาะเรื่องของ สถิติ
-เป็นคนที่ชอบวิชาคณิตศาสตร์มาก
-เป็นคนที่ใช้เทคโนโลยีด้านบัญชีที่เป็นแบบเฉพาะทาง
-เป็นคนที่รู้เรื่องของกฎหมายภาษีอากร
-ถ้าในอเมริกาเงินเดือนเริ่มต้นของคนที่เรียนจบบัญชี คิดเป็นเงินไทยเบาๆ แค่ประมาณ 1.4 ล้านบาทเท่านั้นเอง สำหรับในไทยก็มีตั้งแต่หลักหลายหมื่นไปจนถึงหลักแสนเลยทีเดียวนะ
แล้ว “นักพยากรณ์ทางการเงิน” อย่างเรา
จะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างล่ะ?
คุณสมบัติที่ดีและควรมีของ “นักพยากรณ์ทางการเงิน”
มีความซื่อสัตย์และมีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
เพราะเราคือผู้รู้ทุกความเคลื่อนไหวทางการเงินของธุรกิจ จึงต้องมีความซื่อสัตย์และมีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ โดยต้องไม่เปิดเผยข้อมูลทางการเงินของธุรกิจให้กับคู่แข่งหรือบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้อย่างเด็ดขาด
มีความรู้ความสามารถและมีความละเอียดรอบคอบ
เราต้องตรวจสอบความถูกต้องทุกครั้งที่มีการส่งมอบเอกสารทางบัญชี และใช้ความรู้ความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขที่แม่นยำและถูกต้องด้วย
มีความรับผิดชอบสูง
อย่างที่รู้กันว่า เราทำงานเกี่ยวกับเรื่องของเงิน การที่เรามีความขยัน มุ่งมั่น และอดทน นั่นคือเราต้องมีความรับผิดชอบที่สูงมาก เพราะเราจำเป็นต้องทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลา
มีแนวคิดและกล้าแสดงความคิดเห็น
การนำเสนอวิธีการใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ รวมไปถึงการตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบการทุจริตหรือความเสียหายก็เป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องรีบแจ้งผู้ที่มีอำนาจหรือผู้บริหารระดับสูงในทันที
เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
การเรียนรู้ไม่ว่าจะสายอาชีพไหน จะไม่มีวันสิ้นสุดและหยุดอยู่กับที่แน่นอน ซึ่งการหาความรู้แหล่งข่าวหรือการหาโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่ประกอบวิชาชีพเดียวกัน จะเป็นหนทางสู่ความก้าวหน้าในอาชีพของตนเองอีกด้วย
ตั้งใจอีกสักนิด ขยันเรียนอีกสักหน่อย
หาสถานที่ฝึกงาน “เกี่ยวกับบัญชีและการเงิน” ดีๆ ได้ที่นี่
เพียงเท่านี้ เราก็จะได้เป็น “สุดยอดนักพยากรณ์ทางการเงิน” อย่างมืออาชีพแล้ว