แยกออกมั้ย? ระหว่าง “สหกิจฯ VS ฝึกงาน”
“สหกิจฯ” และ “ฝึกงาน” ต่างกันรึป่าวนะ !!
หลายคนสงสัยมาสักพักแล้วล่ะว่า “สหกิจฯ” กับ “ฝึกงาน” มันคือเรื่องเดียวกันรึป่าวนะ ซึ่งบางคนก็อาจจะรู้ว่ามันคืออะไร แต่ก็มีอีกหลายคนที่ยังแยกไม่ออกว่ามันเหมือนหรือต่างกันยังไง มาไขข้อสงสัยกันสักหน่อยดีกว่า !!
มาเริ่มจากความหมายกันก่อน…
คำว่า “สหกิจศึกษา หรือ Co-operative Education (เรียกสั้นๆ ว่า Co-op)” มันคือ ระบบการศึกษาที่มีการผสมผสานการเรียนเข้ากับการทำงาน โดยปกติแล้วทางมหาลัยจะเลือกและทำข้อตกลงร่วมกันกับทางบริษัทหรือผู้ประกอบการไว้แล้ว เรียกว่า MOU และให้นักศึกษาเลือกว่าจะทำที่ไหนหรือเหมาะกับที่ไหน และให้ทำงานเป็นเวลา 16 สัปดาห์ หรือ 1 เทอม นั่นแหละ (ประมาณ 3-4 เดือน) ซึ่งงานที่นักศึกษาทำจะต้องตรงกับสาขาวิชาของนักศึกษา
ส่วนคำว่า “ฝึกงาน หรือ Internship” มันคือ การที่นักศึกษาหาสถานที่ฝึกงานด้วยตัวเอง และสามารถเลือกตามที่ตัวเองสนใจหรืออยากจะฝึกก็ได้ ซึ่งบางครั้งก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องฝึกงานตรงกับสาขาที่เรียนมา เพราะทางบริษัทหรือผู้ประกอบการที่รับนักศึกษาฝึกงานจะเป็นผู้พิจารณาด้วยตัวเอง ว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยช่วงเวลาของการฝึกงานจะอยู่ที่ประมาณ 200 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ หรือไม่น้อยกว่า 25 วัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วน้องๆ จะฝึกกันช่วงซัมเมอร์ ก็จะมีเวลาประมาณ 1-2 เดือน
แล้วมันต่างกันยังไงล่ะ?
แน่นอนว่ามันมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 7 ประเด็นสำคัญได้ ตามนี้…
ประเด็นสำคัญที่ 1: ความเหมือนกันในรูปแบบของเอกสารที่ต้องส่ง
สหกิจฯ และ ฝึกงาน – โดยปกติจะต้องยื่นเอกสารสำคัญทั้งหมด ดังนี้…
- Resume และ Portfolio
- สำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรนักศึกษา
- เอกสารรับรองการขอฝึกงานจากทางมหาลัย (ใบส่งตัวจากทางมหาลัย)
- Transcript ตั้งแต่ปี 1 จนถึงเทอมล่าสุด
ประเด็นสำคัญที่ 2: ความต่างกันในเรื่องของคุณสมบัติ
จุดแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของการระบุหรือไม่ระบุเกรดเฉลี่ยเท่านั้น
สหกิจฯ – ในมุมมองของมหา’ลัย จะมีการระบุเกรดเฉลี่ย โดยขึ้นอยู่กับมหาลัยหรือสาขานั้นๆ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกนักศึกษา หากไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด จะไม่สามารถเข้าโครงการ สหกิจฯ ได้ (โดยปกติแล้ว เกรดเฉลี่ยที่ทางมหา’ลัยกำหนดจะอยู่ที่ประมาณ 2.50-2.75)
ฝึกงาน – จะไม่ได้ระบุเกรดเฉลี่ย สามารถหาที่ฝึกงานได้เลย แต่ถ้าหากเจอบริษัทหรือผู้ประกอบการที่ต้องการดูเกรดเฉลี่ยด้วย หากเราเกรดไม่ถึงก็ต้องเลือกสถานที่ฝึกงานที่ใหม่เอง
ประเด็นสำคัญที่ 3 : ความต่างกันในเรื่องของระยะเวลา
สหกิจฯ – จะต้องฝึกทั้งหมด 16 สัปดาห์ หรือ 1 เทอม เป็นอย่างต่ำ และบางมหาลัยอาจจะมากกว่า 1 เทอม ก็ได้
ฝึกงาน – จะต้องฝึกทั้งหมดไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง หรือไม่น้อยกว่า 25 วัน ซึ่งสามารถฝึกได้มากกว่านั้นเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่ 4 : ความเหมือนกันในสถานะของนักศึกษา
สหกิจฯ และ ฝึกงาน – ที่จริงแล้ว เราก็เรียกว่า “เด็กฝึกงาน” หรือ “นักศึกษาฝึกงาน” เหมือนกันนะ แต่บางองค์กรอาจจะให้ความสำคัญลงไปอีก โดยมองว่า น้องๆ ที่มาฝึกงาน ก็คือคนมาทำงานคนหนึ่ง ดังนั้น สถานะของน้องๆ จึงเท่ากัน
ประเด็นสำคัญที่ 5 : ความต่างกันในลักษณะของงาน
สหกิจฯ – จะมีข้อตกลงกับบริษัทหรือผู้ประกอบการ ว่าต้องฝึกให้ตรงกับสาขาที่เรียนมา โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นไปตามนั้น
ฝึกงาน – จะมีอิสระในการเลือกฝึกงานได้มากกว่า ทั้งฝึกแบบตรงกับสาขาหรือไม่ตรงกับสาขา แต่ตรงกับความสนใจและความชอบของเราก็ได้
ประเด็นสำคัญที่ 6 : ความต่างกันในเรื่องของการส่งผลปฏิบัติงาน
สหกิจฯ – จะต้องทำเป็นรูปเล่มรายงานจำนวน 1 เล่ม ในหัวข้อและเนื้อหาที่ถูกกำหนดโดยบริษัทหรือผู้ประกอบการและอาจารย์ที่ปรึกษาในสาขาวิชานั้น
ฝึกงาน – ทำเพียงรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานก็เพียงพอแล้ว
ประเด็นสำคัญที่ 7 : ความเหมือนกันในการประเมินผล
สหกิจฯ และ ฝึกงาน – จะมีการประเมินผลเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะถูกประเมินโดยใคร โดยปกติแล้วก็จะถูกประเมินโดยอาจารย์และพี่เลี้ยงหรือหัวหน้างานของนักศึกษาคนนั้น
นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว หากเป็นเรื่องของค่าตอบแทน ส่วนใหญ่ก็จะขึ้นอยู่กับบริษัทนั้นว่าจะมีหรือไม่ และแต่ละบริษัทก็จะมีพี่เลี้ยงคอยดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ทัศนคติ ความสามารถ ความมั่นใจ หรือความชอบของนักศึกษา ทางมหาลัยและทางบริษัทก็จะดูคุณสมบัติเหล่านี้ของนักศึกษาทุกคนควบคู่กันไปด้วย
ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก: สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา
สำหรับใครที่กำลังมองหา ที่ฝึกงาน งานพาร์ทไทม์ หรืองานประจำ สำหรับเด็กจบใหม่
เข้ามาสร้างเรซูเม่ออนไลน์กันง่ายๆ และค้นหางานที่สนใจ ที่ เด็กฝึกงาน.com
และบริษัทที่ต้องการหานักศึกษา เพื่อช่วยงานด่วน !!
สมัครสมาชิกและติดต่อลงประกาศงานได้ที่ เด็กฝึกงาน.com