พร้อมรับมือ… เด็ก GEN(วอด)Y
ช่องว่างระหว่างวัย มันทำให้เราเข้าใจกันยากขึ้น… จริงหรอ ?
เราเองก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ช่องว่างระหว่างวัยมันทำให้เราเข้าใจกันยากขึ้นจริง” เพราะเราเองก็เกิดและเติบโตมาในยุคสมัยที่แตกต่างกัน จึงมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน การตัดสินใจและการใช้เหตุผลก็เลยแตกต่างกันไปด้วย
Generation Y เป็นเพียง Gen ตัวอย่าง ที่จริง Y มันก็มาจากคำว่า “Why” นั่นแหละ เพราะเด็ก Gen นี้มีความต้องการเหตุผลร้อยแปดพันเก้าแทบทุกเรื่อง ดังนั้นคำถามที่ว่า “ทำไม?” จึงคล้ายกับลักษณะเด่นของเด็ก Gen นี้ และที่สำคัญคนกลุ่มนี้ยังมีลักษณะเด่นอีกหลายอย่างก็คือ ความกล้าในการแสดงออกที่สูง มีเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัว ไม่แคร์คำวิจารณ์ใดๆ มั่นใจในตัวเอง ชอบความสะดวกรวดเร็ว และใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นอาวุธประจำตัว
เมื่อเราพูดถึงวงจรของการทำงาน ปัจจุบันเด็ก Gen Y ก็คือคนที่มีความเป็นเด็กที่สุดในวงจรนี้ แต่พวกเขาก็จะเติบโตและก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำองค์กรยุคใหม่ต่อไปในอนาคต นั่นคือเหตุผลว่าทำไมหลายองค์กรถึงเริ่มให้ความสำคัญกับคนทำงานรุ่นใหม่แบบนี้มากขึ้น คงเป็นเพราะเด็ก Gen นี้มีพลังในการขับเคลื่อนองค์กรและคุณลักษณะเด่นบางอย่างที่เหมาะมากในการนำมาปลุกปั้นให้ไปในทิศทางที่เราต้องการได้ แต่สิ่งที่หลายๆ องค์กรต้องเรียนรู้ด้วยก็คือ
“ธรรมชาติของเด็ก Gen Y ในโลกของการทำงาน”
“เด็ก Gen Y มักจะให้ความสำคัญกับงานที่ตัวเองชอบมากกว่าสิ่งอื่นใด”
ความชอบ คือสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุดของเด็ก Gen นี้ ถ้าไม่รักไม่ชอบงานนั้นจริง ก็จะทำมันออกมาไม่ดีหรือยากมากที่จะสอนหรือบังคับให้ทำ นอกจากนี้ยังชอบอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ไม่เคร่งครัดจนเกินไปและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ชอบที่จะให้หัวหน้ารับฟังความคิดเห็นของเขาด้วย
“เด็ก Gen Y มักจะมีค่านิยมที่ต้องการความสำเร็จอย่างรวดเร็ว”
ค่านิยมนี้มักจะถูกเอาไปเปรียบเทียบกับเพื่อนเสมอ เพราะมันก็คือความท้าทายในชีวิตของเด็ก Gen นี้ และถ้าหากเขายิ่งประสบความสำเร็จได้เร็ว เขาก็จะยิ่งภูมิใจและมั่นใจว่าสามารถทำอย่างอื่นต่อไปได้
“เด็ก Gen Y จะมีบุคลิกเป็นของตัวเองสูง กล้าตัดสินใจ และกล้าแสดงออก”
ถึงแม้ว่าเด็ก Gen นี้จะต้องการให้หัวหน้าเป็นผู้สอนก็ตาม แต่เขาก็อยากจะเป็นผู้ที่ตัดสินใจเองด้วย เด็ก Gen นี้จะกล้าแสดงออกมาก ทั้งการแสดงออกภายนอกและแสดงออกทางความคิด ทำให้เป็นคนที่กล้าตัดสินใจในหลายๆ เรื่องด้วยตัวเอง
“เด็ก Gen Y ต้องการใช้ชีวิตในรูปแบบที่สมดุล”
นั่นคือการมีอิสระ ทั้งความคิดและการใช้ชีวิต มันคือความสมดุลสำหรับเด็ก Gen นี้ เพราะเขาจะคิดเสมอว่าไม่ใช่อะไรๆ ก็งาน เขาก็ต้องการอย่างอื่นบ้างที่ไม่ใช่งาน ดังนั้นกิจกรรมนันทนาการต่างๆ ที่ไม่ใช่งานหลักก็สำคัญสำหรับเขาเช่นกัน
แล้วเราจะรับมือกับเด็ก Gen Y อย่างสร้างสรรค์ ได้ยังไงล่ะ…
กุญแจดอกแรก ก็คือ สมองซีกขวา
เด็ก Gen นี้มักจะใช้สมองซีกนี้ในการทำงานค่อนข้างมาก ซึ่งมันคือส่วนของความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ถ้าเราดึงจุดเด่นตรงนี้ออกมาใช้อย่างถูกวิธีได้ โดยใช้หลักจิตวิทยาในการมอบหมายงานมากกว่า “การสั่งงาน” ก็จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลไม่มีที่สิ้นสุด
กุญแจดอกที่สอง ก็คือ ความมั่นคงขององค์กรและวิสัยทัศสมัยใหม่
องค์กรต้องทำให้เด็กเห็นว่า ถ้าเขาเจองานที่ชอบและเป็นองค์กรที่ใช่ เขาจะมีความมั่นคงและมั่นใจได้แน่นอน รวมไปถึงเขาจะช่วยพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าไปได้ไกลด้วย นอกจากนี้เมื่อเด็กทำงานให้เราแล้วการสร้างแรงจูงใจโดยให้ผลตอบแทนที่ดีและยุติธรรมต่อพวกเขาก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย
กุญแจดอกที่สาม ก็คือ ความสัมพันธ์แบบพี่น้อง
ถึงแม้ว่าเราจะเป็นหัวหน้า พี่เลี้ยง หรือรุ่นพี่ก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องทำตัวให้ดูสูงกว่าหรือแตะต้องไม่ได้ ดังนั้นการใช้ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการจะส่งผลที่ดีกว่ามาก จะทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น และเมื่อเกิดปัญหาไม่ว่าจะเรื่องอะไรหรือแม้แต่ปัญหาจากงานของเด็กเอง เด็กก็จะกล้าคุยกับเราโดยที่ไม่แก้ปัญหาด้วยตัวเอง สิ่งนี้จะเป็นการช่วยกันหาทางแก้ปัญหาร่วมกันอย่างใกล้ชิดซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่อย่าลืมว่าคนที่เป็นผู้นำก็ต้องมีความเข้มแข็งมากพอที่จะแนะนำได้ด้วย
กุญแจดอกที่สี่ ก็คือ การยอมรับ
การยอมรับทั้งในความคิดเห็นและการแสดงออกภายนอก รวมถึงเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างจริงจัง จะทำให้องค์กรเข้าใจมุมมองที่แตกต่างมากขึ้น การเข้มงวดมากเกินไปอาจจะไม่ใช่ผลดีต่อใครเลย การให้อิสระทางความคิดแต่กำหนดกรอบที่เหมาะสมให้นั่นคือสิ่งที่เป็นผลดีต่อตัวเด็กและองค์กรได้ดีที่สุด
และกุญแจดอกสุดท้าย ก็คือ การเรียนรู้และพัฒนาองค์กรอยู่เสมอ
ถ้าเราไม่มีการพัฒนาในด้านต่างๆ และเรียนรู้โลกที่มันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เราจะกลายเป็นองค์กรที่ล้าหลังทันที เด็กก็จะไม่สนใจ และการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ก็เป็นสิ่งที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี