เด็กฝึกงาน.com

เทคนิคง่ายๆ เลือก ‘ที่ฝึกงาน’ ให้ได้มากกว่าแค่มาฝึกงาน

  • บทความนักศึกษา
  • 9/5/18
  • 10,453
เทคนิคง่ายๆ เลือก ‘ที่ฝึกงาน’ ให้ได้มากกว่าแค่มาฝึกงาน

“ การเลือกบริษัทที่ฝึกงานมีความสำคัญตรงไหน? ”

คำถามนี้มักจะอยู่ในหัวมาตลอด ตอนที่อาจารย์เริ่มสั่งให้หาบริษัทไว้

เพราะเราเองก็คิดว่า ‘ที่ฝึกงาน’ ก็เหมือนๆ กันหมด จะแตกต่างก็แค่เราได้ทำตำแหน่งอะไรมากกว่า แต่พอได้เข้ามาฝึกงานเราอาจจะคิดว่าการเลือกบริษัทที่ฝึกงาน สำคัญอย่างยิ่ง เคยได้ยินประโยคที่ว่า “เลือกที่ฝึกงานผิดชีวิตเปลี่ยน ไหม” ไม่ใช่แค่บริษัทต่างๆ เท่านั้นที่มีสิทธิ์เลือกเด็กฝึกงาน แต่เด็กฝึกงานอย่างเรา ก็มีสิทธิ์เลือกที่ฝึกงานตามความชอบของตัวเองเช่นกัน แล้วทีนี้เราจะรู้ได้ไงล่ะว่า ที่ฝึกงานไหน หรือ บริษัทแบบใด จะเหมาะสมกับเราและเราจะทำยังไงให้ตัวเองสามารถมีความสุขไปกับการฝึกงานได้

 

อย่างแรก รู้จักตัวเอง

สิ่งแรก คือ การที่เรารู้จักว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จุดอ่อนเราอยู่ตรงไหน แล้วจุดแข็งเรามีอะไรบ้าง

แต่ก็มีอยู่หลายคนไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไร ไม่รู้ว่าเรามีจุดแข็งตรงไหน เราชอบคิดกันแค่ว่าเราทำไม่ได้หรอกงานแบบนี้ เราต้องคิดดูว่า ‘เราทำไม่ได้ หรือแค่ไม่ชอบทำ’ คนหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ชอบอะไรในชีวิต เขาเหล่านั้นจึงเสียเวลาไปกับการฝึกงานที่ตัวเองไม่ถนัด และไม่ชอบไปวันๆ บางคนฝึกงานเพราะเขามีเบี้ยเลี้ยง บางคนฝึกงานแค่ให้มันผ่านๆ ไป และไม่ได้รับความสุขจากการฝึกงาน การค้นหาตัวเองอย่างแรกเราควรลิสต์ก่อนว่าเราชอบอะไร เวลาทำอะไรแล้วเรามีความสุข การค้นหาสิ่งที่ชอบบางครั้งมันต้องใช้เวลา แต่เชื่อเถอะแค่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรก็จะทำให้ในอนาคตมีความสุขในที่ฝึกงานขึ้นเยอะเลย

 

อย่างสอง เลือกงานที่เราถนัด

เมื่อเรารู้ตัวว่าตัวเองถนัดหรือชอบอะไร เราก็จะทำให้งานนั้นออกมาได้ดี

ในการเลือกที่ฝึกงานเราควรระลึกไว้เสมอว่า ที่ฝึกงานต้องทำให้เรารู้สึกอยากตื่นไปที่ฝึกงานทุกวัน เป็นที่ฝึกงานที่เมื่อคิดถึงทีไรก็ทำให้อะดรีนาลีนของเราเดือดพล่าน อยากเข้าไปลุยกับมัน อยากเข้าไปแสดงฝีมือของเราให้เป็นที่ประจักษ์ ต่อสถานที่นั้น อีกอย่างสถานที่ฝึกงานที่ใช่กับงานที่ชอบนั้นจะทำให้เรามีแพสชั่นและความกระตือรือร้นในการฝึกฝนทักษะในการฝึกงานยิ่งๆ ขึ้น ทำให้เราอยากจะใฝ่รู้ใฝ่เรียนอยู่ตลอดเวลา อีกด้วย

 

อย่างที่สาม วางเป้าหมายในการฝึกงาน

เราทุกคนไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ย่อมมีเป้าหมายในตัวของมัน

การดูที่ฝึกงานก็เช่นกัน ถ้าเราอยากได้ความรู้อย่างนึง แต่ไปเลือกที่ฝึกงานที่ไม่มีสายงานที่เราชอบ ก็คงไม่ตรงตามความต้องการของเรา เช่น เราอยากเป็นนักเขียนคอลัมน์ แต่เราไปยื่นเรื่องขอฝึกงานสายข่าว ย่อมได้เขียนข่าวมากกว่าเขียนบทความแน่นอน ฉะนั้นการวางเป้าหมายนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน การเลือกที่ฝึกงานนั้นถือว่า โคตรสำคัญ แน่นนอนว่าถ้าเราแค่ต้องการฝึกงานไปวันๆ ไม่ห่วงเรื่องเกรด ไม่กังวลว่าจะได้ความรู้ไหม คุณฝึกที่ไหนก็ย่อมได้แค่เลือกให้มันตรงสายก็พอ แต่ถ้าอยากได้ความรู้ตรงจุดก็ควรเลือกที่ฝึกงานให้ตรงกับเป้าหมาย

 

อย่างสุดท้าย พิจารณาวัฒนธรรมองค์กร

 

ขั้นตอนสุดท้ายแสนจะสำคัญคือการหาบริษัทที่ฝึกงาน

แน่นอนว่าสิ่งแรกที่พวกเราคิดเลยมีเบี้ยเลี้ยงไหม ไกลแค่ไหน บริษัทใหญ่ไหม ตำแหน่งอะไร บรรยากาศที่ทำงานเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เราควรรู้ลึกกว่านั้น คือ ตำแหน่งที่เราสมัครเราจะได้ทำอะไร บริษัทหรือองค์กรเขาอยู่ในรูปแบบไหน คล้ายๆ กับการศึกษาประวัติของบริษัท ไม่ใช่แค่ว่าเลือกบริษัทใหญ่ๆ ไว้ก่อน เคยได้ยินว่า ‘ที่ฝึกงานใหญ่ๆ เขาคงให้เราชงกาแฟ ถ่ายเอกสารจำพวกนี้คงไม่มีงานอะไรให้ทำ แต่บริษัทที่เพิ่งสร้างตัวก็อาจใช้งานเราเยี่ยงทาส’ แต่ใครจะไปรู้ว่าที่เคยได้ยินมาต่างๆ นานา พวกเขาพูดจริงไหม

 

 ' อย่าลืม! เลือกที่ฝึกงานที่ใช่ เลือกตำแหน่งที่ชอบก็จะมีความสุขในที่ฝึกงานเอง 4 เดือนไม่ใช่ระยะเวลาสั้นๆ อะไรที่เราจะเก็บเกี่ยวในที่ฝึกงานได้ก็ควรรีบกอบโกย  '

 

เราจะมีความสุขในการฝึกงานไหม? ที่ฝึกงานที่เราเลือกตรงกับที่เราชอบจริงหรอ? ทำไมเราต้องมาทำที่ฝึกงานที่ไม่ชอบด้วย? ถ้าไม่อยากมีความคิดแบบนี้อยู่ในหัวก็ต้องเริ่มจากการวางแผนชีวิตตัวเองให้ถูก การวางแผนชีวิตตัวเองมันไม่ใช่ข้อบังคับแต่มันคือการจัดระเบียบชีวิตตัวเองให้ง่ายขึ้นในการใช้ชีวิตต่างหาก

 

 

ฝึกงาน นักศึกษา การฝึกงาน นักศึกษาฝึกงาน เด็กฝึกงาน ที่ฝึกงาน เด็กฝึกงานดอทคอม ประกาศฝึกงาน ตำแหน่งฝึกงาน หาเด็กฝึกงาน สมัครฝึกงาน หาที่ฝึกงาน หางานฝึกงาน สถานที่ฝึกงาน แหล่งฝึกงาน รวบรวมที่ฝึกงาน