เด็กฝึกงาน.com

จ้องคอมและโทรศัพท์มากไป เสี่ยงโรค !!

  • บทความ HR
  • 23/5/17
  • 2,622
จ้องคอมและโทรศัพท์มากไป เสี่ยงโรค !!

ทำแบบนี้ เสี่ยงต่อการเป็นโรค ซีวีเอส (CVS) !!

         ลองถามตัวเองสิว่า เราจ้องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมานานเท่าไรแล้ว สำหรับน้องๆ คนไหนที่ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ จ้องนานๆ แถบทุกวัน พี่มาเตือน ว่าน้องอาจจะเสี่ยงต่อการเป็นโรค ซีวีเอส (Computer Vision Syndrome) ก็ได้นะจ๊ะ

         “โรคซีวีเอส” หรือ”คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” (computer vision syndrome)  คือ อาการของคนที่ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เช่น เกินสองถึงสามชั่วโมง มักจะมีอาการปวดตา แสบตา ตามัว และบ่อยครั้งที่จะมีอาการ ปวดหัวร่วมด้วย อาการทางสายตาเหล่านี้เกิดจากการจ้องดูข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ติดต่อ กันเป็นเวลานานเกินไป อาการเหล่านี้พบได้ถึงร้อยละ 75 ของบุคคลที่ใช้คอมพิวเตอร์

 

สาเหตุการเกิดโรค

แสงจ้าและแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ตาเมื่อยล้า ทั้งแสงจ้าและแสงสะท้อน มายังจอภาพ อาจเกิดจากแสงสว่างไม่พอเหมาะ มีไฟส่องเข้าหน้าหรือหลังจอภาพโดยตรง หรือแม้แต่แสงสว่างจากหน้าต่างปะทะหน้าจอภาพโดยตรง ก่อให้เกิดแสงจ้าและ แสงสะท้อนเข้าตาผู้ใช้ ทำให้เมื่อยล้าตาง่าย

ระยะทำงานที่ห่างจากจอภาพให้เหมาะสม ควรจัดจอภาพให้อยู่ในระยะพอเหมาะที่ตา มองสบายๆ ไม่ต้องเพ่ง โดยเฉลี่ยระยะจากตาถึงจอภาพควรเป็น 0.45 ถึง 0.50 เมตร ตาอยู่สูงกว่าจอภาพโดยเฉพาะผู้ที่ใช้แว่นสายตาที่มองทั้งระยะใกล้และไกล จะต้องตั้ง จอภาพให้ต่ำกว่าระดับตา เพื่อจะได้มองตรงกับเลนส์แว่นตาที่ใช้มองใกล้

ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ไม่ค่อยกระพริบตา ปกติแล้วเราทุกคนจะต้องกระพริบตาอยู่เสมอ เป็นการเกลี่ยน้ำตาให้คลุมผิวตาให้ทั่วๆ โดยมีอัตราการกระพริบ 20 ครั้งต่อนาที หากเราอ่านหนังสือหรือนั่งจ้องคอมพิวเตอร์ อัตราการกระพริบจะลดลง โดยเฉพาะการจ้องคอมพิวเตอร์การกระพริบตาจะลดลงกว่าร้อยละ 60 ทำให้ผิวตาแห้ง ก่อให้เกิดอาการแสบตา ตาแห้ง รู้สึกฝืดๆ ในตา

อาการของ "โรคซีวีเอส" (computer vision syndrome) มีอะไรบ้าง?

         อาการทางตาที่สำคัญและพบบ่อยที่สุดของ โรคซีวีเอส คือ แสบตา เคืองตา ตาแห้ง เมื่อยตา ตาสู้แสงไม่ได้ บางรายเป็นมากถึงขั้นรู้สึกตาพร่ามัว ปวดตา ปวดกระบอกตา อาการดังกล่าวอาจเป็นน้อยบ้าง มากบ้าง แตกต่างกันในระหว่างบุคคล ส่วนใหญ่จะเป็นอาการก่อความรำคาญ ไม่สบายตา เห็นภาพซ้อน ปวดประสาทตา บั่นทอนการทำงาน แต่ไม่ถึงกับทำให้ตามัวลงอย่างถาวร รวมไปถึง อาการ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดคอ ปวดไหล่

แก้ไขและป้องกันได้อย่างไร?

  1. ฝึกกระพริบตาขณะทำงานหน้าจอทุก 1 – 2 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านี้ และหากแสบตามาก อาจใช้น้ำตาเทียมช่วย (ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ)
  2. ปรับห้องและบริเวณทำงาน อย่าให้มีแสงสะท้อนจากหน้าต่าง จากหลอดไฟบริเวณเพดานห้อง อย่าให้แสงสะท้อนเข้าตา อย่าให้จอภาพหันเข้าหน้าต่าง การใช้แผ่นกรองแสงวางหน้าจอ หรือใส่แว่นกรองแสง (ปรึกษาหมอตาก่อน) อาจลดแสงสะท้อนเข้าตาได้บ้าง
  3. จัดวางคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม ในระยะทำงานพอเหมาะที่ตามองได้สบายๆ โดยเฉลี่ยระยะจากตาถึงจอภาพควรเป็น 0.45 ถึง 0.50 เมตร จอภาพควรตั้งสูง 0.72-0.75 เมตร เหนือพื้นห้อง ปรับเก้าอี้นั่งให้พอเหมาะ ให้ตาอยู่สูงจากพื้นโดยเฉลี่ย 1.0–1.15 เมตร ตาควรอยู่สูงกว่าขอบบนของจอภาพเล็กน้อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ใช้แว่นตา2 ชั้น จะต้องตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าระดับตา เพื่อจะได้ตรงกับเลนส์แว่นตาส่วนที่ใช้มองใกล้ นอกจากนั้น การตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าตาจะทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องแหงนหน้ามอง ซึ่งการแหงนหน้านานๆ ทำให้ปวดเมื่อยกล้าม เนื้อคอและหัวไหล่ได้ง่าย
  4. อนึ่งผู้สูงอายุ ถ้าต้องใช้คอมพิวเตอร์นานๆต่อเนื่อง ควรปรึกษาจักษุแพทย์พิจารณา ใช้แว่นตาเฉพาะดูได้ทั้งระยะอ่านหนังสือ ระยะจอภาพ และระยะไกล เป็นกรณีพิเศษ
  5. หากมีสายตาผิดปกติหรือโรคตาบางอย่างอยู่ ควรแก้ไขและรักษาโรคตาที่เป็นอยู่ควบคู่ไปด้วย
  6. หากงานในหน้าที่ต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ทุก 1–2 ชม. ควรมีการพักสายตา โดยละสายตาจากหน้าจอ แล้วมองออกไปไกลๆ หรือหลับตาสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยกลับมาทำ งานใหม่ หากเป็นไปได้ ควรทำงานหน้าจอภาพวันละ 4 ชม. เวลาที่เหลือไปทำงานอื่นบ้าง

ขอบคุณที่มา : หาหมอดอทคอม
คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์